แนวทางการเลือกซื้ออุปกรณ์ Smart Home

เนื่องด้วยช่วงนี้กลับมาอยู่บ้าน เลยอยากจะหาอุปกรณ์ Smart Home มาติดที่บ้านบ้าง ให้เหมือนกับที่หอที่เคยทำนั่นแหละ ระหว่างนั้นก็เลยมาเขียนเล่าด้วย เวลาจะซื่ออุปกรณ์อะไร ผมมีแนวทางการเลือกอย่างไรบ้าง เป็นแนวทางให้คนที่กำลังจะทำอ่านกันดู

และต้องบอกว่า อันนี้เป็นแนวทางของผมเอง จากที่เล่นมาสามสี่ปีก็ลงตัวประมาณนี้ บางท่านอาจจะมีแนวทางที่แตกต่างกันไป ลองมาแชร์กันได้ แต่ขอร้องว่าอย่าดราม่าเลยย

Home Assistant คือ Server หรือศูนย์รวมระบบควบคุมในบ้าน ที่เราสร้างเองได้ ลองกดไปศึกษาดู ที่นี่

1. หาอุปกรณ์ที่รองรับการใช้กับ Server ที่สร้างเอง หรือแอพจากเจ้าใหญ่ ๆ
ของผมเอง ก็เลือกอุปกรณ์ที่มันรองรับกับ Home Assistant ก่อนเลย จะแบบง่าย แค่ใส่ IP แล้วจบ หรือจะยากแบบต้องแกะออกมาบัดกรีวงจร แฟลชเฟิร์มแวร์ ก็ขอให้รองรับก่อน เพราะมันต่อยอดได้เยอะมาก   แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไป อาจจะเลือกที่รองรับ Google Home หรือว่า Apple HomeKit ก็ได้แล้ว

ถามว่ามันดีกว่ายังไง ลองนึกภาพว่าจะปิดไฟ ต้องเข้าแอพนึง จะปิดพัดลม ต้องเข้าอีกแอพนึง จะเปิดแอร์ ก็ต้องเข้าอีกแอพนึง ยุ่งยากไหมหละ เทียบกับเราเข้า Home Assistant แค่ทีเดียว แล้วสั่งได้ทั้งบ้านเลย

2. หาอุปกรณ์ที่ทำงานบน Local ได้
ข้อนี้อาจจะยากนิดนึง เพราะแต่ละเจ้าตอนนี้ก็พยายามให้ติดต่อผ่านเซิฟเวอร์ของเขาเอง แต่มันจะมีประโยชน์มากตอนที่เน็ตบ้านดับ เรายังสามารถคุมอุปกรณ์ภายในบ้านเราได้อยู่ และอีกหนึ่งอย่างคือลดการถูกแฮคได้ เพราะอุปกรณ์ไม่ต้องต่อเน็ต ได้ไม่เป็นข่าวแบบภาพกล้องวงจรปิดหลุดงี้ บ้านปลดล็อคเองงี้สุดท้ายคือ ความเร็ว กดสั่งงานแล้วไม่ดีเลย์ เพราะมันอยู่ในบ้าน ไม่ต้องวิ่งไปเซิฟเวอร์แล้ววิ่งกลับมา

แต่สำหรับคนที่ใช้ Home Assistant นี่ก็น่าจะคุ้นเคยอยู่แล้ว อย่างการใช้ ESPHome หรือ Tasmota หรืออย่างผมเขียนโปรแกรมบอร์ดเอง ให้คุยกันผ่าน MQTT แบบนี้ก็ได้

3. ใช้ Hub เถอะครับ
Hub ในที่นี้คือ Device Hub นะ ไม่ใช่ Hub หรือ Switch ที่เอาไว้ต่อเพิ่มช่องแลน

หลาย ๆ คน (รวมทั้งตัวผมในตอนแรก) ก็จะมองว่า ทำไมต้องซื้อฮับด้วย ซื้อรุ่นไวไฟ แล้วต่อไวไฟที่บ้านก็จบแล้ว ถูกกว่าด้วย อันนี้ก็จริงแหละ แต่พออุปกรณ์คุณเยอะขึ้น คุณก็ต้องอัพเกรดแอคเซสพอยท์ในครอบคลุมทั้งบ้าน ให้มันรับอุปกรณ์เยอะ ๆ ได้ แล้วไหนมันต้องมาแย่งความเร็วไวไฟกับคอมพิวเตอร์ กับมือถือคุณอีก บางทีก็หนักถึงขั้นทำให้เน็ตในบ้านช้าไปเลยก็มี เพราะไวไฟมันเป็นระบบที่คุยละเครื่อง เหมือนอุปกรณ์นั่งล้อมแอคเซสพอยท์เรา แล้วให้พูดละคน วนกันไปเรื่อย ยิ่งเยอะมันก็ยิ่งช้า

ดังนั้นก็ซื้อฮับของอุปกรณ์นั้น ๆ ให้มันคุยกันเอง แล้วลากสายแลนแค่เส้นเดียวมาเข้าเร้าเตอร์ของคุณดีกว่า และก็หาฮับกับอุปกรณ์ที่มันใช้ Protocol ที่คนใช้กันเยอะ ๆ เช่น Zigbee เพราะมันอาจจะใช้งานข้ามยี่ห้อกันได้ ไม่ต้องซื้อฮับหลายตัว หรือในกรณีเราทำตัวฮับเอง ก็ไม่ต้องทำเยอะ 

4. แลนได้แลน
"สายดีกว่าไร้สาย" คำนี้ยังใช้ได้เสมอ เราอาจจะเหนื่อยลากสายแลนตอนแรก แต่ในระยะยาวมันใช้ได้โดยไม่มีปัญหา เช่น หลุด ค้าง ดับ สัญญาณอ่อน โดนกวน โดนแฮค โดยเฉพาะกับอุปกรณ์ที่ต้องเปิดตลอด หรือต้องส่งข้อมูลเยอะ ๆ เช่น กล้องวงจรปิด แอคเซสพอยท์ หรือฮับต่าง ๆ

5. PoE ก็น่าสนนะ
PoE ย่อมาจาก Power over Ethernet หรือการส่งไฟไปตามสายแลนนั่นเอง อุปกรณ์หลาย ๆ อย่าง เช่น กล้องวงจรปิด เราต้องเดินสายแลนไปหามันอยู่แล้ว เราก็ส่งไฟผ่านสายแลนนั้นไปเลยสิ ไม่ต้องเดินปลั๊กเพิ่ม ไม่ต้องต่ออะไรให้ยุ่งยาก สายแลนเส้นเดียวจบ ปลอดภัยกว่าด้วยเพราะว่าเป็นไฟแรงดันต่ำ แต่ข้อเสียคือ สวิตช์และอุปกรณ์ทั้งหลายที่รองรับ ยังมีราคาแพงอยู่

6. เน็ตเวิร์คในบ้านต้องดีพอ
อันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ตรง ๆ แต่ก็เกี่ยวแหละ เพราะว่าอุปกรณ์ Smart Home การเชื่อมต่อเครือข่ายคือจุดสำคัญของมันเลย ถ้าไวไฟในบ้านติด ๆ ดับ ๆ อินเทอร์เน็ตมา ๆ หาย ๆ คุณก็จะหัวร้อน ไม่พอใจกับการใช้อุปกรณ์พวกนี้ ว่าทำไมมันใช้ไม่ได้ ทำไมมันค้าง ทำไมมันหลุด บางทีอุปกรณ์มันก็ไม่ผิดอะไร ระบบเครือข่ายนั่นแหละที่ไม่ดีพอ ดังนั้นก็ลงทุนกับเรื่องนี้หน่อย เลือกของดี ๆ รุ่นที่รองรับกับอุปกรณ์ได้มากพอ แต่ไม่ต้องถึงขั้นไปซื้ออุปกรณ์หลักแสนทั้งระบบมาลงในบ้านนะ

ถ้าเป็นสายที่ชอบเล่นชอบลอง แนะนำให้หาระบบที่สามารถต่อยอดได้ อย่างเช่น Ubiquiti UniFi เซทง่าย เข้าใจง่าย และอุปกรณ์สวยด้วย ๕๕๕

Comments

  1. คุมแอร์ นี่ต้องเริ่มจากอะไรบ้างครับ

    ReplyDelete

Post a Comment

Popular posts from this blog

5 เหตผลที่ไม่แนะนำให้ซื้อเครื่อง Xeon มือสอง ในปี 2020

UPS ไหม้ เกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง

รีวิวบอร์ด Relay 8 ช่อง มี ESP8266 และ Step Down ในตัว